มจร ชู “พุทธนวัตกรรม” เพื่อการเรียนรู้และพัฒนายั่งยืน

มจร ชู “พุทธนวัตกรรม” เพื่อการเรียนรู้และพัฒนายั่งยืน

วส.พุทธปัญญาศรีทวารวดี จัดประชุมวิชาการระดับชาติ มหกรรมแสดงผลงานวิชาการระดับบัณฑิตศึกษา ครั้งที่ 1 โดยมีพระเทพวัชรบัณฑิต อธิการบดีมจร บรรยายพิเศษ พระพุทธศาสนา นวัตกรรมและการเรียนรู้เพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน และพระเทพศาสนาภิบาผอ.วส.พุทธปัญญาฯ บรรยายพิเศษ หมู่บ้านศีล 5 กับการพัฒนาสังคมไทย

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เมื่อเร็วๆนี้ วิทยาลัยสงฆ์(วส.) พุทธปัญญาศรีทวารวดี หรือ มจร วัดไร่ขิง ได้มีการจัดประชุมวิชาการระดับชาติ งานมหกรรมแสดงผลงานวิชาการระดับบัณฑิตศึกษา ครั้งที่ 1 จัดโดยหลักสูตรบัณฑิตศึกษา วส.พุทธปัญญาฯ ที่อาคารห้องสมุดประชาชน เฉลิมราชกุมารี วส.พุทธปัญญาฯ จ.นครปฐม โดยมีพระเทพวัชรบัณฑิต  (สมจินต์ สมฺมาปญโญ) อธิการบดีมหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณรชวิทยาลัย(มจร) เป็นประธานเปิดงาน พร้อมทั้งบรรยายพิเศษ พระพุทธศาสนา นวัตกรรมและการเรียนรู้เพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน ว่า นวัตกรรมและการเรียนรู้เพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน คือ พุทธนวัตกรรม โดยการนำพระธรรมมาเพื่อพัฒนาชีวิตอย่างยั่งยืนโดยสัมพันธ์กับการศึกษา ส่วนเหตุผลว่าทำไมเราต้องมาศึกษาในสถาบันการศึกษา เพราะมีความจำเป็นมาก เนื่องจากสถาบันการศึกษาไม่ใช่ได้ความรู้ทางวิชาการอย่างเดียว แต่ยังได้ทั้งบรรยากาศ วิธีการปรับตัว ความสัมพันธ์ศิษย์อาจารย์ เป็นต้น ทั้งมีการเรียนรู้ซึ่งกันและกัน ให้คุณูปการอย่างรอบด้าน และที่สำคัญสถาบันการศึกษาจะมีการจัดบรรยากาศให้เปิดรับการศึกษาในหลายๆทางด้วย นอกจากนี้การเรียนรู้เพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน ต้องเป็นการศึกษาที่ทำให้คนรู้จักคิด ตามหลักโยนิโสมนสิการ มีการหาเหตุ หาปัจจัย ย้อนไปถึงต้นเหตุของปัญหานั้นได้  มีการคิดแยกแยะ เป็นต้น 

ด้านพระเทพศาสนาภิบาล (แย้ม กิตฺตินฺธโร) เจ้าอาวาสวัดไร่ขิง รองเจ้าคณะจ.นครปฐม ผอ.วส.พุทธปัญญาฯ ในฐานะประธานคณะกรรมการขับเคลื่อนโครงการหมู่บ้านรักษาศีล 5 บรรยายพิเศษ โครงการหมู่บ้านศีล 5 กับการพัฒนาสังคมไทย ว่า  โครงการหมู่บ้านรักษาศีล 5 เป็นโครงการเดียวของคณะสงฆ์ที่อยู่ในแผนยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี งานนี้เป็นงานเจอกับคน ให้ความจริงใจกัน มาร่วมมือกันทำงาน ตั้งแต่ระดับตำบล ระดับอำเภอ ระดับจังหวัด ต้องมีการปรับแผนยุทธศาสตร์อยู่ตลอด เพื่อการขับเคลื่อนโครงการให้พุทธศาสนิกชนมีความสุขในการเข้าร่วมโครงการ และจากการลงพื้นที่ติดตามความคืบหน้าของโครงการฯทั่วปนระเทศ พบหลายแห่งมีการดำเนินการที่เป็นรูปธรรมได้อย่างน่าชื่นชม  เช่น หมู่บ้านที่จ.ยะลา มีผู้นับถือศาสนาอิสลามล้อมรอบหมู่บ้าน เป็นพหุวัฒนธรรมที่อยู่ร่วมกับชาวไทยพุทธ มีการตั้งสัญญาทั้งหมู่บ้านกว่า 400 คน ว่าจะไม่ทำผิดศีล 5 ทั้งชีวิต โดยมีการตั้งคณะกรรมการคอยดูแลการดำเนินงานในศีลแต่ละข้อ หากพบคนทำผิดจะเตือนก่อน และหากเตือน 3 ครั้ง ไม่ทำตาม จะไม่ให้อยู่หมู่บ้านนี้ทันที นับเป็นหมู่บ้านที่น่ายกย่อง แม้ว่าจะอยู่ไกลก็ตาม สามารถปฏิบัติศีล 5 ได้เป็นอย่างดี ประสบความสำเร็จเป็นรูปธรรม ส่วนที่จ.ชัยนาทมีโรงเรียนหนึ่งสามารถท่องบทธัมมจักกัปปวัตตนสูตรได้ทุกคน ตั้งแต่ชั้นป.6-ม.3    เช่นเดียวกับที่จ.นครราชสีมา มีโรงเรียนแห่งหนึ่งชั้นม.3 ถึงม.6 ก็สามารถท่องบทเดียวกันได้ทุกคน เป็นต้น

Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *